Chicory (ชิโครี่) พืชสมุนไพรกับประโยชน์มากมาย

ชิโครี (Cichorium intybus) เป็นพืชล้มลุกยืนต้นที่มีเนื้อไม้เล็กน้อยในวงศ์ Asteraceae โดยทั่วไปมีดอกสีฟ้าสดใส ไม่ค่อยมีสีขาวหรือสีชมพู มีถิ่นกำเนิดในยุโรป แต่ต่อมามีการนำเข้าไปยังอเมริกาและออสเตรเลีย

มีการปลูกชิโครีหลายสายพันธุ์เพื่อนำใบของผักสลัด ชิโครี (ตาที่ลวกแล้ว) หรือราก (var. sativum) มาอบ บด และใช้แทนกาแฟและสารเติมแต่งอาหาร ในศตวรรษที่ 21 อินูลิน ซึ่งเป็นสารสกัดจากรากชิโครี ถูกนำมาใช้ในการผลิตอาหารเป็นสารให้ความหวานและแหล่งของใยอาหาร ชิโครียังปลูกเป็นพืชอาหารสัตว์สำหรับปศุสัตว์อีกด้วย

สรรพคุณของ Chicory ที่อาจส่งผลดีต่อสุขภาพ

แม้ว่า Chicory จะเป็นพืชสมุนไพรที่ใช้กันมาอย่างยาวนาน แต่นิยมใช้กันในประเทศบางกลุ่ม ข้อมูลที่ศึกษาสรรพคุณของ Chicory โดยตรงจึงยังมีอยู่ค่อนข้างจำกัด โดยประโยชน์ส่วนใหญ่ที่นำมาพูดมาจะเป็นการศึกษาเกี่ยวกับอินูลินเป็นหลัก เพราะเป็นสารที่พบมากใน Chicory

แก้ท้องผูก

อาการท้องผูกเกิดได้จากหลายสาเหตุและปัจจัย หนึ่งในนั้นคือภาวะลำไส้และระบบทางเดินอาหารขาดสมดุล เพราะตามธรรมชาติแล้ว ภายในลำไส้ของมนุษย์มีจุลินทรีย์หรือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอาศัยเป็นจำนวนมาก ทั้งชนิดที่ดีและไม่ดีในปริมาณที่สมดุลกัน แต่หากจุลินทรีย์ชนิดดีหรือโพรไบโอติกส์ (Probiotics) อ่อนแอและมีจำนวนลดลง ส่งผลให้ลำไส้ขาดสมดุลและนำไปสู่ความเสี่ยงของอาการท้องผูกที่เพิ่มขึ้น

การได้รับพรีไบโอติกส์ที่เป็นอาหารของโพรไบโอติกส์ อย่างอินูลินที่พบได้ในพืชผักและ Chicory อาจช่วยเพิ่มความแข็งแรงและจำนวนของโพรไบโอติกส์ในลำไส้ ทำให้จุลินทรีย์ในให้ลำไส้สมดุลมากขึ้น จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงของอาการท้องผูกและความผิดปกติเกี่ยวกับลำไส้บางชนิดได้ 

การศึกษาชิ้นหนึ่งได้ศึกษาสรรพคุณแก้ท้องผูกของอินูลินใน Chicory โดยเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้รับอินูลินจาก Chicory และกลุ่มที่ไม่ได้รับ ผลพบว่ากลุ่มที่ได้รับอินูลินขับถ่ายบ่อยขึ้นและอุจจาระนิ่มลง ซึ่งช่วยให้ขับถ่ายได้ง่ายกว่า อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างในการศึกษามีเพียง 30 คน จึงจำเป็นต้องได้รับการศึกษาเพิ่มเติมและสังเกตผลข้างเคียงที่แน่นอน

ดีต่อผู้ป่วยเบาหวาน

การศึกษาหลายชิ้นระบุว่าการได้รับพรีไบโอติกส์จากรากของ Chicory อาจส่งผลดีต่อผู้ป่วยเบาหวาน โดยแต่ละการศึกษาก็พบกลไกการทำงานของอินูลินต่อผู้ป่วยเบาหวานต่างกันออกไป เช่น ช่วยเสริมความแข็งแรงของจุลินทรีย์ในร่างกายบางชนิด หรือช่วยย่อยคาร์โบไฮเดรตได้ดีขึ้น

อีกทั้งกรดชิโคริก (Chicoric Acid) และกรดคลอโรจีนิก (Chlorogenic Acid) ที่พบในราก Chicory ยังกระตุ้นให้กล้ามเนื้อของหนูทดลองตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินมากขึ้นด้วย ทำให้น้ำตาลในเลือดถูกดึงไปใช้เป็นพลังงานได้ดียิ่งขึ้น 

จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงของภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอันตรายในผู้ป่วยเบาหวาน เพราะเดิมทีร่างกายของผู้ป่วยเบาหวานมักมีปัญหาในการจัดการกับคาร์โบไฮเดรต และมักไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลิน แต่ควรรอผลการทดลองในมนุษย์เพิ่มเติม

บำรุงสุขภาพ

อินูลินไม่เพียงช่วยแก้ท้องผูก แต่ยังช่วยเสริมสุขภาพให้แข็งแรงและทำงานได้เป็นปกติ นอกจากนี้ Chicory ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบของร่างกายและช่วยชะลอการเสื่อมของเซลล์ภายในร่างกาย ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคที่เกิดจากการอักเสบอย่างโรคมะเร็งได้

นอกจากนี้ จากการรวบรวมประโยชน์ของ Chicory ในต่างประเทศมีการตั้งสมมติฐานว่า Chicory อาจช่วยอาจลดความเสี่ยงหรือบรรเทาโรคเรื้อรังได้หลายโรค เช่น โรคไขมันพอกตับ โรคข้ออักเสบ ภาวะความดันโลหิตสูง และอีกหลายโรค แต่การศึกษาทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสรรพคุณของ Chicory นั้นยังอยู่ในวงจำกัดอย่างมาก จึงยากที่จะยืนยันสรรพคุณเหล่านั้น

อีกทั้งบางการศึกษาเป็นการศึกษาในสัตว์ทดลองและเซลล์ทดลอง หรือสรรพคุณบางข้อเป็นการศึกษาเกี่ยวกับอินูลินที่มาจากแหล่งอื่น ไม่ได้มาจาก Chicory โดยตรง ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ควรใช้อาหารเสริมหรือยาบำรุงที่มีสารสกัด Chicory ในเชิงการรักษาหรือป้องกันโรคเป็นหลัก เพราะอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

ความเสี่ยงจากการใช้ Chicory

ผลิตภัณฑ์ Chicory ในประเทศไทยพบได้น้อย ส่วนมากจะอยู่ในรูปแบบของอาหารเสริม กาแฟและชา Chicory ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรงสามารถใช้หรือบริโภคได้อย่างปลอดภัย แต่ก็ควรระมัดระวังในการรับประทานหรือใช้ในปริมาณมาก เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเล็กน้อย อย่างท้องอืด อาหารไม่ย่อย และปวดท้อง ส่วนผลข้างเคียงในระยะยาวนั้นยังไม่มีข้อมูลและรายงานที่แน่ชัด 

อาการแพ้ Chicory อาจพบได้น้อยและยากมาก แต่หากได้รับหรือบริโภค Chicory แล้วพบอาการผื่นแดงคัน ลมพิษ คัดจมูก อาการบวมตามริมฝีปาก ลำคอ ผิวหนัง และใบหน้า คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง หน้ามืด ควรไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของอาการแพ้อาหารชนิดรุนแรง